ชีวิตและอาชีพ ของ แฮร์ทา มึลเลอร์

มึลเลอร์เกิดที่ Niţchidorf (เยอรมัน: Nitzkydorf) ซึ่งเป็นเมืองที่พูดภาษาเยอรมันในภูมิภาคบานัททางตะวันตกของโรมาเนีย เป็นบุตรสาวของเกษตรกร ครอบครัวของมึลเลอร์เป็นชนกลุ่มน้อยชาวโรมาเนียเชื้อสายเยอรมัน บิดารับราชการเป็น Waffen SS[1] และมารดารอดชีวิตมาได้จากการถูกกักในค่ายกรรมกรในยูเครนในสหภาพโซเวียตอยู่เป็นเวลาห้าปีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2[2] ปู่ของมึลเลอร์เคยเป็นพ่อค้าและเกษตรกรผู้มีฐานะดี มึลเลอร์เรียนเยอรมันศึกษา และ วรรณกรรมโรมาเนียที่มหาวิทยาลัยตะวันตกแห่ง Timişoara

ในปี ค.ศ. 1976 มึลเลอร์ก็เริ่มทำงานเป็นนักแปลสำหรับโรงงานวิศวกรรม แต่ถูกปลดในปี ค.ศ. 1979 เพราะไม่ยอมร่วมมือกับ Securitate ซึ่งเป็นกองตำรวจลับของพรรคคอมมิวนิสต์โรมาเนีย หลังจากถูกปลดมึลเลอร์ก็ไปทำงานเป็นครูสอนเด็กอนุบาลและสอนภาษาเยอรมันเป็นการส่วนตัว หนังสือเล่มแรกที่เขียนเป็นภาษาเยอรมันตีพิมพ์ในโรมาเนียในปี ค.ศ. 1982 เป็นฉบับที่ได้รับการตัดทอนโดยรัฐบาลเช่นเดียวกับงานเขียนอื่นๆ ในคอมมิวนิสต์โรมาเนียขณะนั้น การเซ็นเซอร์งานวรรณกรรมขณะนั้นไม่รุนแรงเท่ากับการถูกเซ็นเซอร์เมื่ออยู่ภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ แต่มึลเลอร์ก็เป็นสมาชิกของกลุ่มปฏิกิริยาบานัท (Aktionsgruppe Banat) ซึ่งเป็นกลุ่มนักเขียนผู้ใช้ภาษาเยอรมันผู้สนับสนุนเสรีภาพการพูดและการเขียนที่ถูกควบคุมภายใต้การควบคุมของรัฐบาลของเชาเชสกู งานเขียนก็รวมทั้ง The Land of the Green Plums (ไทย: ดินแดนลูกพลัมดิบ) ซึ่งมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับปัญหาที่นักเขียนต้องประสบและความสัมพันธ์ของนักเขียนกับการเซ็นเซอร์งานของรัฐบาล[3][4]

มึลเลอร์ย้ายจากโรมาเนียมายังเบอร์ลินตะวันตกพร้อมกับสามีริชาร์ด วากเนอร์ผู้เป็นนักเขียนเช่นกันในปี ค.ศ. 1987 จากความกดดันของรัฐบาลโรมาเนีย ในช่วงสองสามปีต่อมามึลเลอร์ก็รับตำแหน่งเป็นผู้ปาฐกในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในเยอรมนีและต่างประเทศ ในปัจจุบันมึลเลอร์พำนักอยู่ในเบอร์ลิน มึลเลอร์ได้รับเข้าเป็นสมาชิกของสถาบันเยอรมันสำหรับภาษาและการเขียน (Deutsche Akademie für Sprache und Dichtung) ในปี ค.ศ. 1995 และตำแหน่งอื่นๆ ที่ตามมา ในปี ค.ศ. 1997 มึลเลอร์ถอนตัวจากศูนย์องค์การนักเขียนนานาชาติ (International PEN) แห่งเยอรมนีในการประท้วงเมื่อองค์การรวมตัวกับสาขาที่เดิมเป็นสารธารณรัฐประชาชนเยอรมัน ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2008 มึลเลอร์ก็เขียนจดหมายวิพากษ์เปิดผนึกไปถึง Horia-Roman Patapievici ประธานสถาบันวัฒนธรรมโรมาเนีย (Romanian Cultural Institute) ในการประท้วงการสนับสนุนขององค์การทั้งทางจริยธรรมและทางการเงินให้แก่อดีตสายลับในหมู่นักเขียน (informant) ขององค์การลับของรัฐบาลสองคนที่โรงเรียนโรมาเนีย-เยอรมันสำหรับฤดูร้อน[5]

ในปี ค.ศ. 2009 นวนิยาย Atemschaukel (ไทย: ทุกอย่างที่เป็นเจ้าของอยู่กับตัว) ได้รับการเสนอสำหรับรางวัลหนังสือเยอรมัน (Deutscher Buchpreis) และเป็นหนึ่งในหกเล่มที่เข้ารอบสุดท้าย ในหนังสือเล่มนี้มึลเลอร์บรรยายการเดินทางของชายหนุ่มไปยังค่ายกักกันกูลาก (Gulag) ในสหภาพโซเวียตที่เป็นตัวอย่างของชะตาของประชากรชาวเยอรมันที่อยู่ในทรานสซิลเวเนียหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 งานชิ้นนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากประสบการณ์ของกวีออสคาร์ พาสติออร์ (Oskar Pastior) ที่มึลเลอร์บันทึกเรื่องราวที่ออสคาร์เล่าให้ฟัง ผสมกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับมารดาของตนเอง

สถาบันสวีเดนมอบรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมให้แก่มึลเลอร์ ในปี ค.ศ. 2009 โดยบรรยายว่าเป็นนักเขียนผู้จาก "งานกวีนิพนธ์มากมายและงานเขียนร้อยแก้วอย่างเปิดใจ บรรยายภูมิทัศน์ของผู้ไร้ดินแดน"[1] ก่อนที่จะได้รับรางวัลมึลเลอร์ก็แทบจะไม่เป็นที่รู้จักกันเท่าใดนักนอกเยอรมนี และแม้แต่ในเยอรมนีเองก็เฉพาะในกลุ่มปัญญาชนและนักวิพากษ์วรรณกรรมเท่านั้น ซึ่งทำให้ถูกวิจารณ์ว่าคณะกรรมการผู้พิจารณามีทัศนคติที่ลำเอียงในการนิยมมอบรางวัลให้แก่ชายยุโรป (Eurocentric)[6]

แหล่งที่มา

WikiPedia: แฮร์ทา มึลเลอร์ http://www.complete-review.com/authors/mullerh.htm http://www.literaturfestival.com/bios1_3_6_467.htm... http://www.new-books-in-german.com/english/496/242... http://www.nytimes.com/1996/12/01/books/strangers-... http://www.signandsight.com/features/1910.html http://www.signandsight.com/features/1925.html http://www.washingtonpost.com/wp-dyn/content/artic... http://www.pwf.cz/en/authors-archive/herta-muller/ http://www.dickinson.edu/glossen/heft1/hertabio.ht... http://nobelprize.org/nobel_prizes/literature/laur...